วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

แบบทดสอบหลังเรียน

๑. คำที่ใช้เรียกชื่อ คน สัตว์ สิ่งของ เรียกว่าอะไร
ก. คำกริยา

ข. คำนาม
ค. คำสรรพนาม
ง. คำบุพบท
๒. เขาไปโรงเรียน คำว่า "เขา" ในประโยค เป็นคำชนิดใด
ก. คำกริยา

ข. คำนาม

ค. คำสรรพนาม
ง. คำวิเศษณ์
๓. ประโยคในข้อใดมีคำสรรพนามบุรุษที่ ๒
ก. หนังสือของเธออยู่ที่นี่

ข. เขาเป็นเพื่อนของฉัน
ค. คุณปู่ท่านไม่ค่อยสบาย
ง. ผมไม่ได้เป็นตำรวจ
๔. ครูสอนนักเรียน คำว่า "สอน" ในประโยค เป็นคำชนิดใด
ก. คำสรรพนาม

ข. คำบุพบท
ค. คำวิเศษณ์
ง. คำกริยา
๕. บ้านของฉันอยู่ใกล้ที่ทำงาน คำว่า "ใกล้" ในประโยค เป็นคำชนิดใด
ก. คำสรรพนาม

ข. คำวิเศษณ์
ค. คำกริยา
ง. คำบุพบท
๖. เขามาจากต่างจังหวัด คำว่า "จาก" ในประโยค เป็นคำชนิดใด
ก. คำสันธาน

ข. คำบุพบท
ค. คำวิเศษณ์
ง. คำกริยา
๗. ผมต้องการพูดกับเขา แต่เขาไม่ยอมพูดกับผม คำว่า "แต่" ในประโยค เป็นคำชนิดใด
ก. คำสันธาน

ข. คำบุพบท
ค. คำวิเศษณ์
ง. คำกริยา
๘. ประโยคในข้อใดมีคำอุทาน
ก. ถ้าได้ไปทำงานก็ดีซิ

ข. พ่อแม่ไม่ใช่หัวหลักหัวตอนะ
ค. เธอจะสู้หรือจะยอมแพ้
ง. ใครทำแก้วแตก
๙. คำใดต่อไปนี้เป็นลักษณนาม
ก. นก

ข. จดหมาย

ค. แท่ง
ง. เดิน
๑๐. ชนิดของคำมีกี่ชนิด
ก. ๔ ชนิด

ข. ๕ ชนิด
ค. ๖ ชนิด
ง. ๗ ชนิด

วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เยาวชนไทยรุ่นใหม่ช่วยรณรงค์ลดเลิกใช้ภาษาวิบัติ

การพิมพ์ภาษา.........วัยรุ่นเดี๋ยวนี้มองภาษา "แอ๊บแบ๊ว" เป็นภาษาที่กิ๊ฟเก๋.......แต่มันจะติดเป็นนิสัย และจะลืมความเป็น"ไทย"ในที่สุด เราเป็นคนไทยควรจะพิมพ์ ภาษาไทยให้ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ว่าฉันพิมพ์ผิด แต่นี่ฉันตั้งใจให้มันผิด และผิดหลักไวยกรณ์ ที่เห็นๆ เช่นคำว่า "กรรม" เราติดนิสัย จนพิมพ์กันเป็นประจำว่า "กำ" มันความหมายคนละอย่างกัน กับอีกแค่ ร.เรือ 2 ตัวมันคงไม่ทำให้เราเสียเวลาอะไรนักหนา ฉะนั้น เราเป็นคนไทย ไม่ใช่แรงงาน พม่า ช่วยรณรงค์พิมพ์ไทยให้ถูกต้องกันหน่อยก็ดี ตอนนี้เกมส์เซิร์ฟเวอร์จริง บางเกมส์ของไทย อย่าง"แรนออนไลน์" เริ่มใช้ระบบ ให้ผู้เล่นพิมม์ให้ถูกหลักไวยกรณ์กันบ้างแล้ว เพราะห่วงว่า ภาษาที่พ่อขุนราม ท่านคิดประดิษฐ์มาให้คนไทยใช้ มาจะถึงปัจุบัน มันจะถูกกลืนหายไปด้วยภาษา "แอ๊บแบ๊ว" เพราะความต้องการแค่คำว่า "ง่าย" ของคนพิมพ์เจอใครพิมพ์ก็ถามสวนไปเลย....ว่า "นายเป็นแรงงานพม่า หรือ? คนไทยรึเปล่า?" เอาให้มันอายไปเลย 55+ ตลกไหมนี่

คำอุทาน

คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูด มักจะเป็นคำที่ไม่มีความหมาย แต่เน้นความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พูด เสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำอุทานนี้ แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
1.เป็นคำ เช่น โอ๊ย ว้าย แหม โถ เป็นต้น
2.เป็นวลี เช่น พุทโธ่เอ๋ย คุณพระช่วย ตายละว้า เป็นต้น
3.เป็นประโยค เช่น ไฟไหม้เจ้าข้า ป้าถูกรถชน เป็นต้น
คำอุทานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.อุทานบอกอาการ ใช้เปล่งเสียงเพื่อบอกอาการและความรู้สึกต่างๆของผู้พูด เช่น
- ร้องเรียก หรือบอกเพื่อให้รู้สึกตัว เช่น แน่น เฮ้ โว้ย เป็นต้น
- โกรธเคือง เช่น ชิชะ ดูดู๋ เป็นต้น
- ตกใจ เช่น ตายจริง ว้าย เป็นต้น
- สงสาร เช่น อนิจจา โถ เป็นต้น
- โล่งใจ เช่น เฮ้อ เฮอ เป็นต้น
- ขุ่นเคือง เช่น อุวะ แล้วกัน เป็นต้น
- ทักท้วง เช่น ฮ้า ไฮ้ เป็นต้น
- เยาะเย้ย เช่น หนอย ชะ เป็นต้น
- ประหม่า เช่น เอ้อ อ้า เป็นต้น
- ชักชวน เช่น นะ น่า เป็นต้น

2.อุทานเสริมบท คือ คำพูดเสริมขึ้นมาโดยไม่มีความหมาย อาจอยู่หน้าคำ หลังคำหรือแทรกกลางคำ เพื่อเน้นความหมายของคำที่จะพูดให้ชัดเจนขึ้น เช่น อาบน้ำอาบท่า ลืมหูลืมตา กินน้ำกินท่า ถ้าเนื้อความมีความหมายในทางเดียวกัน เช่น ไม่ดูไม่แล ร้องรำทำเพลง เราเรียกคำเหล่านี้ว่า คำซ้อน

คำสันธาน

คำสันธาน คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ เชื่อมประโยคกับประโยค เชื่อมข้อความกับข้อความ หรือข้อความให้สละสลวยคำสันธานมี 4 ชนิด ดังนี้
1.เชื่อมใจความที่คล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า กับ และ , ทั้ง…และ , ทั้ง…ก็ , ครั้น…ก็ , ครั้น…จึง , พอ…ก็
2.เชื่อมใจความที่ขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ , แต่ว่า , ถึง…ก็ , กว่า…ก็
3.เชื่อมใจความเป็นเหตุเป็นผลกัน ได้แก่คำว่า จึง , เพราะ…จึง , เพราะฉะนั้น…จึง
4.เชื่อมใจความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่คำว่า หรือ , หรือไม่ก็ , ไม่เช่นนั้น , มิฉะนั้น
หน้าที่ของคำสันธาน
1.เชื่อมคำกับคำ
2.เชื่อมข้อความ
3.เชื่อมประโยคกับประโยค
4.เชื่อมความให้สละสลวย

คำบุพบท

คำบุพบท คือ คำที่เชื่อมคำหรือกลุ่มคำให้สัมพันธ์กันและเมื่อเชื่อมแล้วทำให้ทราบว่า คำ หรือกลุ่มคำที่เชื่อมกันนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ได้แก่คำว่า ใน แก่ จน ของ ด้วย โดย ฯลฯ
หน้าที่ในการแสดงความสัมพันธ์ของคำบุพบท
1.แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานที่ เช่น คนในเมือง
2.แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเวลา เช่น เขาเปิดไฟจนสว่าง
3.แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของ เช่น แหวนวงนี้เป็นของฉัน
4.แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับเจตนาหรือสิ่งที่มุ่งหวัง เช่น เขาทำเพื่อลูก
5.แสดงความสัมพันธ์เกี่ยวกับอาการ เช่น เราเดินไปตามถนน
หลักการใช้คำบุพบทบางคำ
"กับ" ใช้แสดงอาการกระชับ อาการร่วม อาการกำกับกัน อาการเทียบกัน และแสดงระดับ เช่น ฉันเห็นกับตา
"แก่" ใช้นำหน้าคำที่เป็นฝ่ายรับอาการ เช่น ครูให้รางวัลแก่นักเรียน
"แด่" ใช้แทนตำว่า "แก่" ในที่เคารพ เช่น นักเรียนมอบพวงมาลัยแด่อาจารย์
"แต่" ใช้ในความหมายว่า จาก ตั้งแต่ เฉพาะ เช่น เขามาแต่บ้าน
"ต่อ" ใช้นำหน้าแสดงความเกี่ยวข้องกัน ติดต่อกัน เทียบจำนวน เป็นต้น เช่น เขายื่นคำร้องต่อศา

คำวิเศษณ์

คำวิเศษณ์ คือ คำที่ใช้ขยายคำอื่น ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ ให้มีความหมายชัดเจนขึ้นคำวิเศษณ์ แบ่งออกเป็น 9 ชนิด ดังนี้
1.สักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะ ชนิด ขนาด สี เสียง กลิ่น รส อาการ
2.กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต เช้า สาย บ่าย ค่ำ
3.สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกสถานที่หรือระยะทาง ได้แก่คำว่า ใกล้ ไกล เหนือ ใต้ ขวา ซ้าย หน้า บน หลัง
4.ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกจำนวนหรือปริมาณ ได้แก่คำว่า มาก น้อย หมด หนึ่ง สอง หลาย ทั้งหมด จุ
5.นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะแน่นอน ได้แก่คำว่า นี่ โน่น นั่น นี้ นั้น โน้น แน่ เอง ทั้งนี้ ทั้งนั้น อย่างนี้
6.อนิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความไม่ชี้เฉพาะ ไม่แน่นอน ได้แก่คำว่า อันใด อื่น ใด ไย ไหน อะไร เช่นไร
7.ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกเนื้อความเป็นคำถามหรือความสงสัย ได้แก่คำว่า ใด อะไร ไหน ทำไม
8.ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงถึงการขานรับในการเจรจาโต้ตอบกัน ได้แก่คำว่า จ๋า ค่ะ ครับ ขอรับ ขา วะ จ๊ะ
9.ประติวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความปฏิเสธไม่ยอมรับ ได้แก่คำว่า ไม่ ไม่ได้ หามิได้ บ่
หน้าที่ของคำวิเศษณ์
1.ขยายคำนาม
2.ขยายคำสรรพนาม
3.ขยายคำกริยา
4.ขยายคำวิเศษณ์
5.เป็นคำอกรรมกริยา หรือกริยาที่ไม่ต้องการกรรมได้ด้วย

คำกริยา

คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการ สภาพ หรือการกระทำของคำนาม และคำสรรพนามในประโยค คำกริยาบางคำอาจมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง บางคำต้องมีคำอื่นมาประกอบ และบางคำต้องไปประกอบคำอื่นเพื่อขยายความ แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้
1.กริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับ (อกรรมกริยา) เป็นกริยาที่มีความหมายสมบูรณ์ ชัดเจนในตัวเอง
2.กริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับ (สกรรมกริยา) เป็นกริยาที่ต้องมีกรรมมารับจึงจะได้ใจความสมบูรณ์
3.กริยาที่ต้องมีคำมารับ คำที่มารับไม่ใช่กรรมแต่เป็นส่วนเติมเต็ม (วิกตรรถกริยา) คือ คำกริยานั้นต้องมีคำนามหรือสรรพนามมาช่วยขยายความหมายให้สมบูรณ์ เช่นคำว่า เป็น เหมือน คล้าย เท่าคือ เสมือน ดุจ
4.กริยาช่วย (กริยานุเคราะห์) เป็นคำที่เติมหน้าคำกริยาหลักในประโยคเพื่อช่วยขยายความหมายของคำกริยาสำคัญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
5.กริยาที่ทำหน้าที่คล้ายนาม (กริยาสภาวมาลา) เป็นคำกริยาที่ทำหน้าที่คล้ายกับคำนาม อาจเป็นประธาน เป็นกรรม หรือบทขยายของประโยคก็ได้
หน้าที่ของคำกริยา
1.ทำหน้าที่เป็นกริยาสำคัญของประโยค
2.ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค
3.ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค
4.ทำหน้าที่ช่วยขยายกริยาสำคัญให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น
5.ทำหน้าที่ช่วยขยายคำนามให้เข้าใจเด่นชัดขึ้น